แม่มดมีจริงนะ แถมยังอยู่ทุกที่เลยด้วย!

วรรณกรรมเด็กของโรอัลด์ ดาห์ลถือเป็นต้นธารชั้นดีสำหรับงานภาพยนตร์ที่ผ่านมาก็มีทั้ง Charlie and the chocolate factory, Matilda, James and the Giant Peach, Fantastic Mr. Fox, BFG และรวมถึง The Witches ที่เคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วในปี 1990 หรือ 30 ปีที่แล้วซึ่งได้กลายเป็นหนังแฟนตาซีในดวงใจใครหลายคนและในปีนี้ The Witches ก็ได้มีโอกาสร่ายมนตร์บนจอภาพยนตร์(ในบางประเทศ)อีกครั้งโดย โรเบิร์ต เซเม็กคิส ผู้กำกับ Back to the future

สำหรับ The Witches ฉบับนี้มีการปรับเปลี่ยนชาติพันธุ์ของตัวละครให้เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และปรับเรื่องให้เกิดขึ้นที่อลาบามา เมื่อแม่มดเริ่มคืบคลานดั่งฝันร้ายในอดีต คุณยาย (ออคตาเวีย สเปนเซอร์) จำต้องหนีเหล่าแม่มดร้ายเพื่อความปลอดภัยของหลานรัก(จาห์เซีย คาดีม บรูโน) เธอจึงพาเขาหลบไปพักที่โรงแรมหรู แต่โดยไม่ทันตั้งตัวเหล่าแม่มดร้ายนำโดย ราชินีแม่มด (แอนน์ แฮททาเวย์) ก็พาเหล่าสมุนไปชุมนุมกัน ณ. โรงแรมดังกล่าว
และขณะที่หนุ่มน้อยหลานยายลักลอบเข้าไปอยู่ท่ามกลางวงประชุมเขาก็โชคร้ายที่ต้องถูกสาปให้กลายเป็นหนูพร้อมกับบรูโน (โคดี ลี อีตสติก) หนุ่มอ้วนตะกละและได้ผูกมิตรกับ แมรี (คริสตีน เชโนเวธ) หนูที่คุณย่าหามาให้หลานรักเลี้ยงก่อนจะได้ทราบความจริงว่าเธอก็ถูกสาปเหมือนกัน งานนี้ 3 หนูและ 1 คุณย่าสุดเฟี้ยวต้องหาทางหยุดเหล่าแม่มดไม่ให้สาปเด็กทั้งโลกเป็นหนูให้จงได้
เปรียบเทียบกันเฉพาะฉบับภาพยนตร์์ The Witches ทั้ง 2 เวอร์ชันต่างถือสัญชาติของตน ฉบับปี 1990 เป็นหนังอังกฤษ ตัวละครคือคนอังกฤษเหมือนกับที่โรอัลด์ ดาห์ล เขียนไว้ แต่สำหรับฉบับปี 2020 หนังถูกทำให้เป็นอเมริกันแบบเต็มขั้นตั้งแต่การให้ตัวละครนำเป็นคนแอฟริกัน-อเมริกันและเมืองอลาบามาที่ถูกกล่าวถึงทั้งในอดีตและปัจจุบันก็เข้ากับเรื่องลึกลับไสยศาสตร์ได้ดีไม่น้อย
รวมถึงสเปเชียลเอฟเฟกต์ที่จัดเต็มด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกสมัยใหม่ซึ่งเราไม่ต้องพูดถึงความอัศจรรย์บนจอที่แปลงร่างให้แอนน์ แฮททาเวย์กลายเป็นแม่มดน่าเกลียดน่ากลัวหรือเหล่าบรรดาหนูคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวดูอิสระและร่วมผจญภัยไปกับงานภาพที่ไร้ขีดกำจัดมากกว่าแต่กระนั้นหนังก็ดันมีตำหนิด่างพร้อยด้วยว่าบรรดาเอฟเฟกต์กลับบดบังความหัวใจของงานเขียนโรอัลด์ ดาห์ลไปอย่างน่าเสียดาย
โดยมันกล่าวถึงการก้าวข้ามความเสียใจจากการสูญเสียครอบครัวและการสั่งสอนเด็ก ๆ ไม่ให้ตะกละและไว้ใจคนแปลกหน้าที่เล่าแบบไม่ให้ความสำคัญโดยเฉพาะการพยายามปูความสัมพันธ์ระหว่างย่ากับหลานที่แม้ออคตาเวีย สเปนเซอร์จะแสดงได้ดีแค่ไหนแต่การกำกับทิศทางของเรื่องในช่วงนี้กลับไม่ได้รับความสำคัญและมันยังยัดเยียดการกล่าวถึงแม่มดมาในช่วงแรกซะนานสองนานเลยทีเดียว

โดยเราจะสังเกตได้เลยว่าตัวหนังพยายามปูพื้นเรื่องเล่าถึงบรรดาแม่มดหนักมากทั้งฉากเปิดเรื่องที่มีเล็กเชอร์เรื่องแม่มดจากเสียงของตัวละครเอก ปมความน่ากลัวที่ทำให้คุณยายเคยมีเพื่อนในอดีตถูกสาปหรือกระทั่งฉากปรากฎตัวครั้งแรกของแม่มดก็ทำออกมาพยายามให้หลอนแต่กลับทำได้ไม่น่ากลัวและดึงให้จังหวะหนังช่วงแรกช้าเกินความจำเป๋็นแต่ยังดีที่พอไปถึงโรงแรมหนังก็เร่งเครื่องความสนุกขึ้นมาได้ด้วยการปรากฎตัวของแอนน์ แฮททาเวย์ หรือ แอนน์ หัตถเวชของเรานี่เอง
และนับเป็นแคสติงที่ชาญฉลาดมากของทีมงานโรเบิร์ต เซเม็กคิสที่จับแอนน์ แฮททาเวย์มารับบทราชินีแม่มดตัวร้ายที่ต้องพูดสำเนียงยุโรปที่แม้จะฟังแล้วเหมือนรัสเซียไปหน่อยก็เถอะ แต่เสน่ห์และจริตของเธอก็น่าจะทำให้บทราชินีแม่มดหรือ Grand High Witch บทนี้ได้กลายเป็นขวัญใจของเหล่ากะเทยแน่ ๆ ด้วยจริตแบบแม่มดสาวยุคแฮรี พอตเตอร์ที่บ๊อง ๆ บวม ๆ และนางก็แสดงได้ฮาไม่แคร์สื่อมาก ๆ จนสร้างความบันเทิงให้คนดูที่เกือบจะไปเฝ้าพระอินทร์ได้ทันท่วงที

