Minari (2020) มินาริ ภาพยนต์คุณภาพแห่งปี ที่ทุกคนควรดูกันนะค่ะ เพราะเรื่องนี้การรันตีคุณภาพชนิดที่ว่าคอหนังรางวัลห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด ถือได้ว่าเป็นหนังคุณภาพอีกเรื่องของทางฝั่งภาพยนต์เกาหลีเลยก็ว่าได้ ปีนี้เขามาแรงจริงๆนะคะ

มินาริ สมบูรณ์แบบที่สุดทั้งในแง่อารมณ์ ความรู้สึก และหัวใจ
มินาริ หรือ มินนารี คือพืชสมุนไพรของเกาหลีที่มักใส่ในอาหารเกาหลีต่างๆ อยู่ในวงศ์เดียวกับพวกวัชพืช ออกดอกได้ ใบใช้ทำอาหาร ปลูกง่าย ขึ้นง่าย ปลูกที่ไหนก็ขึ้นได้ ถ้ามินาริ เริ่มผลัดใบแรกจะงอกงามเจริญเติบโตได้ดี

ผู้กำกับลี ไอแซค ชอง นำสัญลักษณ์ของมินาริ แทนครอบครัวอี ที่เป็นชาวเกาหลี (ที่ว่ากันว่ามาจากชีวิตจริงๆ ของตัวผู้กำกับชอง) ประกอบด้วย เจค็อบ พ่อที่เป็นหัวหน้าครอบครัว โมนิก้า แม่ที่สัญญาว่าจะอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน แอนน์ พี่สาว และ เดวิด น้องชายตัวน้อย เด็กทั้งสองเติบโต ผลิใบในสังคมอเมริกัน จึงเห็นทั้งคู่สนทนากันเป็นภาษาอังกฤษ แต่ฟังภาษาเกาหลีจากพ่อและแม่เข้าใจเป็นอย่างดี และคุณยายซูนจา ที่ย้ายมาจากเกาหลีเพื่อมาดูและหลานๆ ในบ้าน

ครอบครัวอี ที่อพยพถิ่นฐานมาจากเกาหลีเพื่อสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าในอเมริกาในยุค 80 ช่วงสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (ไม่ต้องแปลกใจที่คนเกาหลีในยุค 80 จะอพยพย้ายถิ่นฐานกันเยอะมาก เกาหลีตอนนั้นเศรษฐกิจ ชีวิต ความเป็นอยู่ไม่ได้ดีเหมือนเกาหลีในตอนนี้ที่พัฒนาประเทศได้เจริญหู เจริญตาและดูอู้ฟู่สุดๆ ) สองสามี ภรรยาทั้งเจค็อบและโมนิก้า เริ่มต้นชีวิตในอเมริกาที่เมืองใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนีย ก่อนจะย้ายมาสร้างชีวิตเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อจะเพาะปลูกพืชผักของเกาหลีในรัฐอาร์คันซอ รัฐทางตอนใต้ของอเมริกา ที่ค่อนข้างไกลปืนเที่ยง ชนบท ยากจน แม้จะได้เป็นเจ้าของที่กว่า 5 เอเคอร์ แต่ต้องอาศัยอยู่แค่ตู้คอนเทนเนอร์ติดล้อ สองผัวเมียต้องทำงานเป็นคนงานแยกเพศลูกเจี๊ยบในโรงงานเพื่อมีรายได้ แถมชีวิตที่บ้านนอกในอเมริกาก็ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนในเมืองแคลิฟอร์เนีย …บ้านอยู่ไกลความเจริญ และยังไม่รู้ชะตากรรมในอนาคตว่าฟาร์มในฝันที่จะทำนั้นจะร่วงหรือจะรุ่ง แต่เมื่อตัดสินใจจะสู้ ยังไงก็ต้องไปต่อ แม้บางช่วงจะล้ม จะผิดหวัง จะหมดพลัง หมดศรัทธา แต่ชีวิตก็คือชีวิต ผ่านมาก็ผ่านไป เหมือนต้นมินาริ ถ้าได้ผลัดใบแรกแล้ว ก็จะยืนหยัดขึ้นต่ออย่างงอกงามได้ แม้ไม่ใช่ในแผ่นดินเกิด

Minari เล่าเรื่องอย่างแช่มช้าและงดงาม ผ่านชีวิตของครอบครัวอี เราได้เห็นความกลมกลืนของสองวัฒนธรรม ระหว่างพ่อแม่ ที่พูดเกาหลี ขณะที่ลูกสาว ลูกชายเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดและโตในอเมริกากลับใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร แต่ก็พูดและฟังเกาหลีเข้าใจ เราได้เห็นชีวิตของผู้คนในชนบทของอเมริกา ก่อนเรื่องจะมีสีสันสุดๆ เมื่อการมาถึงของคุณยายจากเกาหลี ที่สะท้อนภาพของความเป็นคนเกาหลีแท้ๆ แบบต้นฉบับ ตัดกับความเป็นเกาหลีที่เคลือบไว้ด้วยวัฒนธรรมตะวันตก ในตัวรุ่นลูกและหลาน ฃนอกจากนี้ บทคุณยาย ยังสะท้อนถึงความโหยหา ความคิดถึง ความเป็นตัวตน รากเหง้าของถิ่นกำเนิด คุณยายที่สอนหลานเล่นไพ่ สบถคำหยาบ ชอบนั่งชันเข่า ทำเค้ก คุ้กกี้ไม่ได้เหมือนคุณยายทางฝั่งอเมริกัน แถมยังชอบต้มน้ำอะไรไม่รู้ขมๆ (ยาแผนโบราณ) และชอบบังคับให้เดวิดหลานชายดื่ม ..นั่นมันไม่ใช่ภาพของยายในฝันของเด็กรุ่นใหม่เลยสักนิด ไม่แปลกที่เดวิด จะรู้สึกแปลกๆ กับคุณยาย ไม่ชอบกลิ่นคุณยาย (ที่เดวิดคิดว่าเหม็นเขียว หรือกลิ่นเกาหลี) แต่นานวันเข้า คุณยายก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญและมีความหมายต่อชีวิต ต่อครอบครัวโดยแท้